เซอร์อาเธอร์ จอห์น อีแวนส์ อังกฤษ: Sir Arthur John Evans (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2394 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 นักโบราณคดีผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษผู้ขุดค้นวังนอสซัสบนเกาะครีต ประเทศกรีก อีแวนส์เกิดที่เมืองแนชมิลลส์ ประเทศอังกฤษ เข้าศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนแฮโรว์ และเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยบราเซโนส มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยกอตติงเก็น ประเทศเยอรมนี
ก่อนที่อีแวนส์จะเริ่มงานที่เกาะครีต นักโบราณคดีชื่อ มิโนส คาโลไคไนโนส ได้เปิดหลุมขุดค้นข้องเก็บของที่วังนอสซัสแล้วสองห้องเมื่อ พ.ศ. 2347 แต่รัฐบาลตุรกีได้ยับยั้งการขุดค้นนี้ไว้ก่อนงานขุดค้นจะแล้วเสร็จ อีแวนส์ได้ถอดรหัสที่จารึกบนตราที่ทำด้วยหินบนเกาะครีตในปีเดียวกันและเมื่อครีตได้ประกาศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2443 อีแวนส์ได้ซื้อบริเวณซากวังนอสซัสและเริ่มงานขุดค้น เซอร์อาเธอร์ อีแวนส์ได้ค้นพบ แผ่นดินเผาจากการขุดค้นมากถึง 3,000 แผ่นและเริ่มงานคัดลอกและถอดระหัส และจากการคัดลอกและถ่ายทอดนี้เป็นที่ชัดเจนว่าข้อความบนแผ่นดินเผาเป็นบทเขียนที่มากกว่าหนึ่งบท จากหลักฐานของเซรามิกและและวิชาการลำดับชั้นหิน (stratigraphy) อีแวนส์สรุปว่าอารยธรรมบนเกาะครีตมีมาก่อนอารยธรรมที่เป็นที่รับรู้เมื่อเร็วนี้โดยนักโบราณคดี-นักผจญภัยชื่อไฮน์ริช ชรีมานน์เป็นผู้เปิดเผย คืออารยธรรมไมซีนี (Mycenae) และไทรีนส์ (Tiryns)
ซากโบราณที่วังนอสซัสแผ่กว้างเป็นเนื้อที่มากถึง 12.5 ไร่ และมีลักษณะความวกวนที่ทำให้อีแวนศนึกถึงเขาวงกตที่มีกล่าวไว้ในเรื่องปรัมปราของกรีกที่สร้างโดยกษัตริย์ไมโนสเพื่อซ่อนพระโอรสประหลาด (monstrous child - คนศีรษะวัว) ดังนั้น อีแวนส์จึงตั้งชื่ออารยธรรมที่เคยมีอยู่ที่พระราชวังยิ่งใหญ่นี้ว่า "อารธรรมมิโนน (Minoan Civilization) เมื่อถึง พ.ศ. 2446 งานขุดค้นวังนอสซัสแล้วเสร็จลงเกือบทั้งหมด เผยให้เห็นความก้าวหน้าของเมืองที่เต็มไปด้วยงานศิลปะและตัวอย่างงานเขียนจำนวนมาก ภาพที่เขียนบนผนังมีภาพวัวเป็นจำนวนมากทำให้อีแวนส์สรุปว่าชาวมิโนนบูชาวัวอย่างแน่นอน
อีแวนส์ได้รับบรรดาศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2454 จากผลงานด้านโบราณคดีและได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของเขาทั้งที่นอสซัสและที่พิพิธภัณฑ์แอชโมลีน ในปี พ.ศ. 2456 เซอร์อีแวนส์ได้ใช้เงินส่วนตัวจำนวน 100 ปอนด์เพื่อเพิ่มทุนการศึกษาที่ร่วมกันตั้งโดยมหาวิทยาลัยลอนดอนและสมาคมโบราณคดีให้เพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ออกัสตัส โวลลาสตัน แฟรงค์ ผู้ได้ทุนในปีนั้นได้แก่มอร์ติเมอร์ วีลเลอร์
เซอร์อาเธอร์ อีแวนส์สมควรที่จะได้รับการจดจำจากความดื้อดึงในการยึดครีตเป็นศูนย์กลางที่นำไปสู่การโต้เถียงที่ไม่มีความเป็นมิตรระหว่างอีแวนส์กับนักโบราณคดีบนแผ่นดินใหญ่ คือคาร์ล เบลเจน และอลัน วาซ